http://maewang http://maewang.siam2web.com/

ประเพณีปีใหม่ม้ง

ประเพณีขึ้นปีใหม่หรือประเพณีฉลองปีใหม่ ซึ่งเป็นงานรื่นเริงของชาวม้งของทุก ๆ ปี จะจัดขึ้นหลังจากได้เก็บเกี่ยวผลผลิตในรอบปีเรียบร้อย และเป็นการฉลองถึงความสำเร็จในการเพาะปลูกของแต่ละปี ซึ่งจะต้องทำพิธีบูชาถึงผีฟ้า - ผีป่า – ผีบ้าน ที่ให้ความคุ้มครอง และดูแลความสุขสำราญตลอดทั้งปี รวมถึงผลผลิตที่ได้ในรอบปีด้วย ซึ่งแต่ละหมู่บ้านจะทำการฉลองกันอย่างพร้อมเพรียงกัน หรือตามวัน และเวลาที่สะดวกของแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งโดยมากจะอยู่ในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี ประเพณีฉลองปีใหม่ม้งนี้ชาวม้งเรียกกันว่า “น่อเป๊โจ่วฮ์” แปลตรงตัวได้ว่า “กินสามสิบ” สืบเนื่องจากชาวม้งจะนับช่วงเวลาตามจันทรคติ โดยจะเริ่มนับตั้งแต่ขึ้น 1 ค่ำ ไปจนถึง 30 ค่ำ (ซึ่งตามปฏิทินจันทรคติจะแบ่งออกเป็นข้างขึ้น 15 ค่ำ และข้างแรม 15 ค่ำ) เมื่อครบ 30 ค่ำ จึงนับเป็น 1 เดือน ดังนั้นในวันสุดท้าย (30 ค่ำ) ของเดือนสุดท้าย(เดือนที่12) ของปีจึงถือได้ว่าเป็นวันส่งท้ายปีเก่า ช่วงวันฉลองปีใหม่ส่วนใหญ่จะตกอยู่ประมาณช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนมกราคม ในวันดังกล่าวหัวหน้าครัวเรือนของแต่ละบ้าน จะประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เพื่อความเป็นสิริมงคลของครัวเรือน ถัดจากวันส่งท้ายปีเก่าไป 3 วัน คือวันขึ้น1 ค่ำ 2 ค่ำและ 3 ค่ำของเดือนหนึ่ง จัดเป็นวันฉลองปีใหม่อย่างเป็นทางการ ซึ่งทุกคนจะหยุดหน้าที่การงานทุกอย่างในช่วงวันดังกล่าวนี้ และจะมีการจัดการละเล่นต่าง ๆ ในงานขึ้นปีใหม่ เช่น การละเล่นลูกช่วง การตีลูกข่าง การร้องเพลงม้ง

 

การเล่นลูกข่าง 

การเล่นลูกข่าง หรือที่เรียกกันว่า “เดาต้อลุ๊” เป็นการละเล่นอีกอย่างหนึ่งที่นิยมเล่นกันในวันขึ้นปีใหม่ของม้ง เป็นการละเล่นสำหรับผู้ชายโดยเฉพาะ การเล่นลูกข่างในโอกาสเช่นนี้จะแยกเล่นเป็นวงผู้ใหญ่และวงเด็ก 

 จุดประสงค์การเล่น เพื่อความสนุกสนานสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านด้วยกัน

การประดิษฐ์ลูกข่าง 
           สำหรับลักษณะของลูกข่าง จะทำมาจากไม้ กล่าวคือจะมีการนำท่อนไม้ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 - 5 เซ็นติเมตร ตามความต้องการ และความเหมาะสมของผู้เล่น นำมาตัดเป็นท่อนๆยาวประมาณท่อนละ 5 นิ้ว แล้วนำไม้ที่ตัดเป็นท่อนนั้นมาทำการตัดแต่งตามต้องการ โดยส่วนหัวจะมีลักษณะทู่ ๆ ราบเรียบในขณะที่ส่วนหางหรือส่วนที่ใช้ หมุนยืนพื้นนั้นจะทำให้มีลักษณะแหลมคล้าย ๆ ดินสอ



 

วิธีการละเล่น
          เมื่อต้องการเล่นก็จะนำไม้ที่ผูกเชือกยาวประมาณสองถึงสามเมตรมาม้วนรอบลูกข่าง โดยมือข้างหนึ่งจะถือลูกข่างที่ถูกเชือกหมุนพันรอบไว้ และมืออีกข้างจะถือไม้ที่ผูกเชือกที่หมุนรอบลูกข่างไว้ แล้วเอามือทั้งสองสะบัดไปข้างหน้า พร้อมดึงไม้ที่ผูกเชือกไว้อย่างแรง แล้วลูกข่างจะตกสู่พื้นแล้วหมุน ซึ่งในกติกาในการเล่นจะถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่าย โดยที่ฝ่ายหนึ่งจะเป็นฝ่ายตีลูกข่างที่กำลังหมุนอยู่ของอีกฝ่าย โดยฝ่ายที่ตีนั้นจะต้องพยายามตีลูกข่างให้ถูกมากที่สุด ซึ่งถ้าหากสามารถทำการตีถูกมาก ก็จะสามารถทำการตีต่อไปได้ แต่หากตีไม่ถูกก็จะต้องเปลี่ยนมาเป็นฝ่ายหมุนลูกข่างให้อีกฝ่ายผลัดไปเป็นฝ่ายตีแทน การเล่นลูกข่างนี้ นอกจากจะได้รับความสนุกสนานจากการเล่นแล้ว ยังเป็นการฝึก และทดสอบความแม่นยำทางด้านสายตาด้วย ปัจจุบันการละเล่นลูกข่างเริ่มหายไปตามวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป อย่างไรก็ตาม การเล่นลูกข่างก็ยังมีให้เห็นอยู่บ้างในช่วงเทศกาลปีใหม่ม้ง หรือเทศกาลต่าง ๆ ของชนเผ่า


เพลงร้องในเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ 
           งานฉลองวันขึ้นปีใหม่มีความหมายสำหรับหนุ่มสาวม้งโดยเฉพาะ เป็นโอกาสที่ผู้ใหญ่อนุญาตให้หนุ่มสาวได้มีโอกาสพบปะกันอย่างเต็มที่ ในวันขึ้นปีใหม่หนุ่มสาวจะเล่นลูกช่วง และมีการร้องเพลงโต้ตอบกัน ในโอกาสนี้หนุ่มสาวมีสุข สนุกสนานกับการเล่น และการร้องเพลง ความหมายของเพลงที่ใช้ร้องโต้ตอบกัน เป็นไปในทำนองเกี้ยวพาราสีกัน บางคู่อาจถือโอกาสสารภาพความในใจของตนเอง หรือขอแต่งงานเลยก็ได้ ต่อไปนี้เป็น ตัวอย่างเนื้อร้องของเพลงที่ร้องในเทศกาลขึ้นปีใหม่

                “พ่อแม่บอกว่าเราโตเป็นหนุ่ม/สาวแล้ว พ่อแม่ว่าดีอย่างไร พ่อแม่ไม่อาจห้ามลูกสาวได้ ลูกสาวจำต้องแต่งงานกับหนุ่ม บ่าวสาวตกลงจะแต่งงานกันตกลงกันแล้ว พ่อแม่จะว่าเช่นไร”

     

        การรำเก็บใบชาของม้ง

การแสดงการรำเก็บใบชาของม้ง จะแสดงในงานเทศกาลปีใหม ่และวันสำคัญต่าง ๆ เท่านั้น เป็นการสื่อถึงเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของม้งซึ่งอดีตม้ง นิยมเก็บใบชานำมาต้มเป็นน้ำชาดื่มในชีวิตประจำ ม้งจึงได้มีการรำลึกถึงคุณค่าของใบชาที่ช่วยทำให้ร่างกายม้งสมัยก่อนค่อนข้างแข็งแรง สามารถตรากตรำทำงานหนักได้ตลอดทั้งปี



 



Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 6,035 Today: 6 PageView/Month: 24

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...